วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คู่มือคอมพิวเตอร์สำหรับการใช้งานด้านกราฟฟิก

ความหมายของกราฟิกและคอมพิวเตอร์กราฟิก
            กราฟิก หมายถึง ศิลปะหรือศาสตร์แขนงหนึ่ง ที่สื่อความหมายโดยใช้เส้น ภาพเขียน สัญลักษณ์ ภาพถ่าย ซึ่งมีลักษณะเห็นได้ชัดเจน เข้าใจความหมายได้ทันที และถูกต้องตรงตามที่ผู้ใช้ต้องการ
            คอมพิวเตอร์กราฟิก หมายถึง การสร้างและการจัดการภาพกราฟิก โดย ใช้ คอมพิวเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพ การตกแต่งแก้ไขภาพ หรือการจัดการเกี่ยวกับภาพ เช่น ภาพยนตร์ วิดีทัศน์ การตกแต่งภาพถ่าย การสร้างภาพตามจินตนาการ และการใช้ภาพกราฟิกในการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้สามารถสื่อความหมายให้ชัดเจนและทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าเดิม เช่น การนำเสนอข้อมูลด้วยแผนภาพหรือกราฟ แทนที่จะเป็นตารางของตัวเลข ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการศึกษา งานด้านธุรกิจ งานด้านการออกแบบ งานด้านบันเทิง หรืองานด้านการแพทย์ เป็นต้น

1.2 หลักการทำงานของภาพกราฟิก
            หลักการทำงานของภาพกราฟิก แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
           1.2.1 ภาพกราฟิกแบบราสเตอร์ (Raster)
            ภาพกราฟิกแบบราสเตอร์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บิตแมพ (Bitmap) เป็นภาพกราฟิกที่เกิดจากการเรียงตัวของจุดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า พิกเซล (Pixel) มีการเก็บค่าสีที่เจาะจงในแต่ละตำแหน่งจนเกิดเป็นภาพในลักษณะต่าง ๆเช่น ภาพถ่าย 
ดังนั้นภาพแบบราสเตอร์มี
ข้อดี คือ เหมาะสำหรับภาพที่ต้องการสร้างสีหรือกำหนดสีที่ต้องการความละเอียดและสวยงามน
ข้อเสีย คือ หากมีการขยายขนาดภาพซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนจุดสีให้กับภาพ ส่งผลให้คุณภาพของภาพนั้นสูญเสียไปความละเอียดของภาพจะลดลงมองเห็นภาพเป็นแบบ จุดสีชัดเจนขึ้นไฟล์ภาพจะมีขนาดใหญ่และใช้เนื้อที่ในการจัดเก็บมากตามไปด้วย โปรแกรมที่นิยมใช้ในการสร้างภาพแบบราสเตอร์ ได้แก่ โปรแกรม Paintbrush โปรแกรม Adobe Photoshop เป็นต้น 
ดังแสดงในภาพที่ 1.1



ภาพที่ 1.1  ภาพแบบราสเตอร์

.2.2  ภาพกราฟิกแบบเวคเตอร์ (Vector)
            ภาพกราฟิกแบบเวคเตอร์ เป็นภาพกราฟิกที่เกิดจากการประมวลผลโดยอาศัยหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ มีสีและตำแหน่งที่แน่นอน ภาพจะมีความเป็นอิสระต่อกัน โดยแยกชิ้นส่วนของภาพทั้งหมดออกเป็นเส้นตรง เส้นโค้ง หรือรูปทรง เมื่อมีการขยายภาพความละเอียดของภาพ จะไม่ลดลง เช่น ภาพการ์ตูนเมื่อถูกขยายภาพออกมา ภาพที่ได้ก็จะยังคงรายละเอียดและความชัดเจนไว้เหมือนเดิม และขนาดของไฟล์ภาพจะมีขนาดเล็กกว่าภาพแบบราสเตอร์ โปรแกรมที่นิยมใช้สร้างภาพแบบเวคเตอร์ ได้แก่ โปรแกรม Illustrator โปรแกรม CorelDraw เป็นต้น 
ดังแสดงในภาพที่ 1.2

ภาพที่ 1.2  ภาพแบบเวคเตอร์

1.3  ประเภทของภาพกราฟิก 
           ประเภทของภาพกราฟิก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
           1.3.1  ภาพกราฟิกประเภท 2 มิต
            เป็นภาพกราฟิกที่มีแต่ความกว้างและความยาว แต่จะไม่มีความหนาหรือความลึก ได้แก่ ภาพสามเหลี่ยม ภาพสี่เหลี่ยม ภาพถ่าย ภาพลายเส้น ภาพวาด เป็นต้น โดยทั่วไปเรียกภาพกราฟิกประเภท 2 มิติว่า ภาพร่าง 
ดังแสดงในภาพที่1.3 


ภาพที่ 1.3 ภาพกราฟฟิกประเภท 2 มิติ

1.3.2    ภาพกราฟิกประเภท 3 มิติ
             เป็นภาพที่เกิดจากการใช้โปรแกรมสร้างภาพ 3 มิติ ภาพที่ได้จะมีลักษณะเหมือนภาพที่มองจากตาคน โดยภาพกราฟิกประเภท 3 มิติจะมีส่วนโค้ง เว้า มุม แสง ความลึก
และรายละเอียดที่สูงขึ้นจากภาพกราฟิกประเภท 2 มิติ มีลักษณะการมองภาพที่เหมือนจริง 
ดังแสดงในภาพที่ 1.4


ภาพที่ 1.4  ภาพกราฟิกประเภท 3 มิติ

1.3.3    ความแตกต่างของภาพกราฟิก 2 มิติแบบราสเตอร์และแบบเวคเตอร์ 
     ภาพกราฟิก 2 มิติแบบราสเตอร์และเวคเตอร์มีความแตกต่าง ดังแสดงในตารางที่ 1.1
ภาพกราฟิก 2 มิติแบบราสเตอร์ 
ภาพกราฟิก 2 มิติแบบเวคเตอร์
1. เกิดจากการเรียงตัวของจุดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่าพิกเซล (Pixel) โดยจะเก็บค่าสีที่เจาะจงในแต่ละตำแหน่งจนเกิดเป็นภาพในลักษณะ ต่าง ๆ 
1. เป็นการประมวลผลโดยอาศัยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ มีสีและตำแหน่งของสีที่แน่นอนภาพจะมีความเป็นอิสระต่อกัน 
2. การขยายภาพจะมีการเพิ่มจำนวนจุดของภาพ ทำให้ความละเอียดลดลง มองเห็นภาพเป็นแบบจุด คุณภาพของภาพนั้นสูญเสียไป 
2. เมื่อมีการขยายภาพความละเอียดของภาพจะไม่ลดลง ยังคงรายละเอียดและความชัดเจนของภาพไว้เหมือนเดิม 
3.การตกแต่งและแก้ไขภาพสามารถทำได้ง่ายและสวยงาม มีความเหมือนจริง เช่น การลบรอยตำหนิบนภาพเพื่อให้ ภาพดูสวยงามขึ้น 
3. นิยมใช้กับงานด้านสถาปัตยกรรมตกแต่งภายใน และงานด้านการออกแบบต่าง ๆ เช่น การออกแบบอาคารการออกแบบการ์ตูน 
4. การประมวลผลภาพสามารถทำได้รวดเร็ว
4. การประมวลผลภาพใช้เวลานานเนื่องจากใช้คำสั่ง
ในการทำงาน
  
 1.4  ระบบสีที่ใช้กับภาพกราฟิก

           โดยทั่วไปสีในธรรมชาติและสีที่สร้างขึ้น จะมีรูปแบบการมองเห็นของสีที่แตกต่างกัน ซึ่งรูปแบบการมองเห็นสีที่ใช้ในงานด้านกราฟิกทั่วไปนั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 ระบบ ได้แก่
            1. ระบบสี RGB ตามหลักการแสดงสีของเครื่องคอมพิวเตอร์
            2. ระบบสี CMYK ตามหลักการแสดงสีของเครื่องพิมพ์
            3. ระบบสี HSB ตามหลักการมองเห็นสีของสายตามนุษย์
            4. ระบบสี LAB ตามหลักการแสดงสีที่ไม่ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ใด ๆ สามารถใช้กับสีที่เกิดจากอุปกรณ์
ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์หรือเครื่องพิมพ์
                   1.4.1  ระบบสี RGB
            ย่อมาจากคำว่า Red Green และ Blue เป็นระบบสีที่เกิดจากการรวมกันของแสงสีแดง    
สีเขียว และสีน้ำเงิน เมื่อมีการใช้สัดส่วนของ 3 สีนี้ต่างกัน จะทำให้เกิดสีต่าง ๆ ได้อีกมากมายถึง 16.7 ล้านสี ซึ่งใกล้เคียงกับสีที่ตาเรามองเห็นปกติ โดยสีที่ได้จากการผสมสีขึ้นอยู่กับความเข้มของสี ถ้าหากสีมีความเข้มมากเมื่อนำมาผสมกันจะทำให้เกิดเป็นสีขาว จึงเรียกระบบสีนี้ว่า Additive หรือการผสมสีแบบบวกหลักการแสดงสีของจอคอมพิวเตอร์นั้นจะแสดงสีเป็นระบบ RGB อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเลือกโหมดการทำงานใดก็ตาม 
ดังแสดงในภาพที่ 1.5

ภาพที่ 1.5 ระบบสี GRB

1.4.2   ระบบสี CMYK
          ย่อมาจากคำว่า Cyan Magenta Yellow และ Black เป็นระบบสีมาตรฐานที่เหมาะกับงานพิมพ์ พิมพ์ออกทางกระดาษหรือวัสดุผิวเรียบอื่น ๆ โดยทำการแก้ไขจุดบกพร่องของระบบสี RGB ที่เครื่องพิมพ์ ไม่สามารถพิมพ์สีบางสีออกไปได้ ซึ่งประกอบด้วยสีหลัก 4 สี ได้แก่ สีฟ้า สีชมพูม่วง สีเหลือง และสีดำ เมื่อนำสีทั้งหมดมาผสมกันจะเกิดเป็นสีดำ จึงเรียกระบบสีนี้ว่า Subtractive Color หลักการเกิดสีของระบบ
นี้คือ หมึกสีหนึ่งจะดูดกลืนแสงจากสีหนึ่งและสะท้อนกลับออกมาเป็นสีต่าง ๆ 
ดังแสดงในภาพที่ 1.6 

ภาพที่ 1.6 ระบบสี CMYK

1.4.3   ระบบสี HSB
            เป็นระบบสีแบบการมองเห็นของสายตามนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ 
            Hue เป็นสีต่าง ๆ ที่สะท้อนออกมาจากวัตถุแล้วเข้าสู่สายตา ทำให้เราสามารถมองเห็นวัตถุเป็นสีต่าง ๆ ได้ ซึ่งแต่ละสีจะแตกต่างกันตามความยาวของคลื่นแสงที่มากระทบวัตถุและสะท้อนกลับมาที่สายตา ค่า Hue ถูกวัดโดยตำแหน่งการแสดงสีบนมาตรฐานวงล้อของสี (Standard Color Wheel) ซึ่งถูกแทนค่าสีด้วยองศา 0 ถึง 360 องศา แต่โดยทั่ว ๆ ไปแล้วมักจะเรียกการแสดงสีนั้น ๆ เป็นชื่อของสีเลย เช่น สีแดง สีม่วง สีเหลือง
          Saturation เป็นการกำหนดค่าความสดของสี โดยค่าความสดของสีจะเริ่มที่ 0 ถึง 100 หากกำหนด Saturation เป็น 0สีจะมีความสดน้อย แต่ถ้ากำหนดที่ 100 สีจะมีความสดมากค่าสีจะถูกวัดโดยตำแหน่ง การแสดงสีบน Standard Color Wheelค่าของ Saturation จะเพิ่มขึ้นจากจุดกึ่งกลางจนถึงเส้นขอบโดยค่าที่ เส้นขอบจะมีสีที่ชัดเจนและอิ่มตัวที่สุดที่ 100  
          Brightness เป็นระดับความสว่างและความมืดของสี โดยค่าความสว่างของสีจะเริ่มที่ 0 ถึง 100 หาก กำหนดค่า 0 ความสว่างจะน้อยซึ่งจะเป็นสีดำ แต่ถ้ากำหนดค่า 100 สีจะมีความสว่างมากที่สุด 
ดังแสดงในภาพที่ 1.7

ภาพที่ 1.7 ระบบสี HSB

 1.4.4    ระบบสี LAB 
          เป็นมาตรฐานสำหรับการวัดค่าแบบครอบคลุมทุกสีในระบบสี RGB และ CMYK สามารถใช้กับสีที่ เกิดจากอุปกรณ์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ สแกนเนอร์ รวมทั้งอุปกรณ์อื่น ๆ            ส่วนประกอบของระบบสีนี้ ได้แก่
          L  (Luminance) เป็นค่าความสว่าง จะมีค่าตั้งแต่ 0 (สีดำไปจนถึงค่า 100 (สีขาว)
          A  แสดงการไล่สีจากสีเขียวไปยังสีแดง
          B  แสดงการไล่สีจากสีน้ำเงินไปยังสีเหลือง 
ดังแสดงในภาพที่ 1.8

ภาพที่ 1.8 ระบบสี LAB

1.5  ประเภทของไฟล์ภาพกราฟิก 
            การสร้างภาพกราฟิกหรือการตกแต่งภาพกราฟิกประเภทของไฟล์ภาพกราฟิกเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มี ความสำคัญ เพราะความละเอียดของไฟล์ภาพจะส่งผลกับขนาดของภาพ เช่น ภาพที่นำมาใช้งาน บนเว็บเพจควรจะต้องมีขนาดเล็ก เพื่อนำไปเรียกใช้งานบนเว็บเพจได้อย่างรวดเร็ว ประเภทของไฟล์ภาพกราฟิกที่นิยมใช้โดยทั่วไป ได้แก

        1.5.1  JPEG หรือ JPG (Join Photographic Export Group)
            เป็นรูปแบบไฟล์ที่เก็บภาพแบบราสเตอร์ที่ไม่ต้องการคุณภาพสูงมากนัก เช่น ภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือและภาพกราฟิกสำหรับแสดงบนอินเทอร์เน็ต สามารถแสดงสีได้ถึง 16.7 ล้านสี เป็นไฟล์ภาพชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม เพราะไฟล์มีขนาดเล็กสามารถบีบอัดข้อมูลได้หลายระดับ
จุดเด่น
     1. สนับสนุนสีได้ถึง 24 bit
     2. แสดงสีได้ถึง 16.7 ล้านสี
     3. สามารถกำหนดค่าการบีบอัดไฟล์ได้ตามที่ต้องการ
     4. มีระบบแสดงผลแบบหยาบและค่อย ๆ ขยายไปสู่ละเอียดในระบบโพรเกรสซีฟ (Progressive)
     5. มีโปรแกรมสนับสนุนการสร้างจำนวนมาก
     6. เรียกดูได้กับบราวเซอร์ (Browser) ทุกตัว
จุดด้อย 
     1. ไม่สามารถทำภาพให้มีพื้นหลังแบบโปร่งใส (Transparent) ได้
     2. ทำภาพเคลื่อนไหว (Animation) ไม่ได้
             1.5.2   GIF (Graphic Interchange Format) 
             เป็นไฟล์ภาพที่สามารถบีบอัดข้อมูลให้มีขนาดเล็กได้ส่วนมากจะนำไปใช้บันทึกเป็นไฟล์ภาพ เคลื่อนไหวและนิยมมากในการใช้งานบนเว็บเพจ
จุดเด่น
     1.  สามารถใช้งานข้ามระบบไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) หรือระบบปฏิบัติการ
          ยูนิกซ์ (Unix) ก็สามารถเรียกใช้ไฟล์ภาพสกุลนี้ได้
     2.  ภาพมีขนาดไฟล์ต่ำ จากเทคโนโลยีการบีบอัดภาพทำให้สามารถส่งไฟล์ภาพได้อย่างรวดเร็ว
     3.  สามารถทำภาพพื้นหลังแบบโปร่งใสได้
     4.  มีโปรแกรมสนับสนุนการสร้างจำนวนมาก
     5.  เรียกดูได้กับบราวเซอร์ทุกตัว
     6.  สามารถนำเสนอแบบภาพเคลื่อนไหวได้
จุดด้อย
     1.  แสดงสีได้เพียง 256 สี
     2.  ไม่เหมาะกับภาพที่ต้องการความคมชัดหรือความสดใส 
            1.5.3   PNG (Portable Network Graphics)
            
เป็นชนิดของไฟล์ภาพที่นำจุดเด่นของไฟล์ภาพแบบ GIF และแบบ JPG มาพัฒนาร่วมกัน ทำให้ไฟล์ภาพชนิดนี้แสดงสีได้มากกว่า 256 สี และยังสามารถทำพื้นหลังภาพให้โปร่งใสได้ จึงเป็นไฟล์ภาพที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน
จุดเด่น
     1.   สนับสนุนสีได้ตามค่า True color (16 bit, 32 bit หรือ 64 bit)
     2.   สามารถกำหนดค่าการบีบอัดไฟล์ได้ตามที่ต้องการ
     3.   ทำภาพพื้นหลังแบบโปร่งใสได้
จุดด้อย
     1.   หากกำหนดค่าการบีบอัดไฟล์ไว้สูงจะใช้เวลาในการคลายไฟล์ภาพสูงตามไปด้วย
     2.   ไม่สนับสนุนกับบราวเซอร์รุ่นเก่า
     3.   โปรแกรมสนับสนุนในการสร้างมีน้อย

             1.5.4  BMP (Bitmap)
             เป็นรูปแบบของไฟล์ภาพมาตรฐานที่ใช้ได้ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์โดยมีลักษณะการจัดเก็บ ไฟล์ภาพเป็นจุดสีทีละจุดจึงทำให้ภาพดูเสมือนจริง
จุดเด่น
      1.   แสดงรายละเอียดสีได้ 24 บิต
      2.   ไม่มีการสูญเสียข้อมูลใด ๆ เมื่อมีการย่อหรือขยายภาพ
      3.   นำไปใช้งานได้กับทุกโปรแกรมในระบบปฏิบัติการวินโดวส์
จุดด้อย 
      1.   ภาพมีขนาดใหญ่มากจึงใช้เนื้อที่ในการจัดเก็บค่อนข้างมาก
      2.   ความละเอียดของภาพอาจจะไม่ชัดเจนเหมือนต้นฉบับ
     
            1.5.5  TIF หรือ TIFF (Tagged Image File
)
             เป็นไฟล์ที่ใช้เก็บภาพแบบราสเตอร์คุณภาพสูง เช่น ภาพกราฟิกที่นำไปทำงานด้านสิ่งพิมพ์ (Artwork) สามารถเก็บข้อมูลของภาพไว้ได้ครบถ้วน    ทำให้คุณภาพของสีเหมือนต้นฉบับ
จุดเด่น 
      1.   สามารถใช้งานข้ามระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์หรือระบบปฏิบัติการยูนิกซ์
            ก็สามารถเรียกใช้ไฟล์ภาพชนิดนี้ได้
      2.   แสดงรายละเอียดสีได้ 48 บิต
      3.   ไฟล์มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
      4.   เมื่อมีการบีบอัดไฟล์จะมีการสูญเสียข้อมูลน้อยมาก
      5.   มีโปรแกรมสนับสนุนการสร้างจำนวนมาก
จุดด้อย 
      1.   ไฟล์ภาพมีขนาดค่อนข้างใหญ่
      2.   ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บไฟล์ภาพสูง

            1.5.6  PSD (Photoshop Document) 
            เป็นไฟล์ภาพเฉพาะโปรแกรม Adobe Photoshop    จะทำการบันทึกแบบแยกเลเยอร์ (Layer)
โดยเก็บประวัติการทำงานและรายละเอียดการตกแต่งภาพ เอาไว้ เพื่อง่ายต่อการแก้ไขในภายหลัง
จุดเด่น 
     1.   มีการบันทึกแบบแยกเลเยอร์และเก็บประวัติการทำงานทุกขั้นตอน
     2.   สามารถนำไฟล์ภาพมาแก้ไขได้ในภายหลัง
จุดด้อย 
     1.   ไฟล์ภาพมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับไฟล์ภาพประเภทอื่น
     2.   ไม่สามารถเปิดใช้งานในโปรแกรมอื่นได้

1.6  คอมพิวเตอร์กราฟิกกับการประยุกต์ใช้ในงานด้านต่าง ๆ
                  งานด้านกราฟิกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและแพร่หลาย คอมพิวเตอร์กราฟิกกับการประยุกต์ ใช้ในงานด้านต่างๆ ได้แก่
1.6.1  คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานออกแบบ (Computer – Aided Design)
คอมพิวเตอร์กราฟิกได้เข้ามามีบทบาทกับงานด้านออกแบบในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น การออกแบบรถยนต์ การออกแบบเครื่องจักร การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบตกแต่งภายใน และการออกแบบเครื่องประดับ เป็นต้น
                  CAD (Computer – Aided Design) เป็นโปรแกรมช่วยในการออกแบบทางวิศวกรรม ซึ่งจะช่วยให้
ผู้ออกแบบ หรือวิศวกรออกแบบงานได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นเมื่อต้องการแก้ไขก็สามารถทำได้ง่ายกว่า การทำงาน
ในกระดาษ สามารถออกแบบลักษณะลายเส้น ใส่สี แสงเงา เพื่อให้ดูคล้าย ของจริง สำหรับงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและ
อิเล็กทรอนิกส์ ได้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบวงจรต่าง ๆ โดยใช้สัญลักษณ์ที่ระบบมีให้ แล้วทำการประกอบ เป็นวงจรที่ต้องการ ผู้ออกแบบสามารถแก้ไขตัดต่อ เพิ่มเติมวงจรได้ เช่น การออกแบบรถยนต์ เครื่องบิน หรือเครื่องจักรต่าง ๆ นักออกแบบจะใช้ CAD ออกแบบส่วนย่อย ๆ แต่ละส่วนก่อน แล้วจึงประกอบกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางระบบสามารถทดสอบแบบจำลองที่ออกแบบไว้ เช่น การออกแบบรถยนต์ แล้วนำโครงสร้างของรถที่ออกแบบมาจำลอง  การวิ่ง แล้วเก็บผลมาตรวจสอบค่า หรือการออกแบบโครงสร้างตึก บ้าน สะพาน และสถาปัตยกรรม เพื่อแสดงภาพในมุมมองต่าง ๆ ตามที่ผู้ออกแบบต้องการ ตัวอย่างการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงาน ออกแบบโครงสร้างภาพคน 
ดังแสดงในภาพที่ 1.9 
ภาพที่ 1.9 คอมพิวเตอร์กราฟฟิกกับงานออกแบบโครงสร้างคน

1.6.2   คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานนำเสนอ (Presentation)
         ในการนำเสนอผลงานโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก สามารถแสดงผลทางหน้าจอโปรเจคเตอร์ (Projector) หรือพิมพ์งานลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรม Microsoft Office PowerPoint ใช้สำหรับการนำเสนองาน การนำเสนอสินค้า ส่วนมากนิยมจัดทำเป็นรายงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น รายงานสรุปงบการเงิน รายงานข้อมูลลูกค้า เป็นต้น นิยมแสดงในรูปแบบของกราฟหรือรูปภาพ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ 
ดังแสดงในภาพที่ 1.10 

ภาพที่ 1.10 คอมพิวเตอร์กับงานนำเสนอ


 1.6.3  คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานบันเทิง (Entertainment)
              คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานบันเทิง โดยเฉพาะงานด้านมัลติมีเดีย ได้รับความแพร่หลาย ในวงการบันเทิงเป็นอย่างมาก เช่น การโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์ รายการข่าว ละคร เกมออนไลน์ การสร้างภาพการ์ตูน การสร้างภาพเคลื่อนไหวการสร้างภาพวิดีโอ การสร้างฉากภาพยนตร์ เป็นต้น 
ดังแสดงในภาพที่ 1.11
ภาพที่ 1.11 คอมพิวเตอร์กราฟฟิกกับงานบันเทิง

1.6.4  คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานเว็บไซต์ (Web Site)
          ได้มีการนำคอมพิวเตอร์กราฟิกมาใช้ในการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงานหรือองค์กรหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ สู่สาธารณะ 
ดังแสดงในภาพที่ 1.12


ภาพที่ 1.12 คอมพิวเตอร์กราฟฟิกกับงานเว็บไซต์

1.6.5  คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานด้านการศึกษาและฝึกอบรม (Education and Training)
         คอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามามีบทบาทกับวงการศึกษา และวงการฝึกอบรมอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดเครื่องมือ
สำหรับช่วยสอนต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งเกิดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ช่วยสอนในรูปแบบ  ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม
การศึกษา เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในลักษณะมัลติมีเดีย การเรียนการสอนบนเว็บ (e-Learning) ส่วนการนำ คอมพิวเตอร์กราฟิกในงานด้านการฝึกอบรม เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ในการฝึกอบรมที่เรียกว่า e-Training 
ปัจจุบันมีการพัฒนาเว็บไซต์สำหรับฝึกอบรมของสถาบันฝึกอบรมหลายแห่ง 
ตัวอย่างคอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานด้านการศึกษา 
ดังแสดงในภาพที่ 1.13


ภาพที่ 1.13 คอมพิวเตอร์กาฟฟิกกับงานด้านการศึกษา

สรุป 
              ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟิก เริ่มจากการทำความเข้าใจความหมายของกราฟิก ซึ่งเป็นศิลปะหรือศาสตร์แขนงหนึ่งที่สื่อความหมายโดยใช้เส้น ภาพเขียน ภาพถ่าย ภาพวาดหรือสัญลักษณ์ ส่วนความหมายของคอมพิวเตอร์กราฟิก เป็นการสร้างและการจัดการภาพกราฟิกโดยใช้คอมพิวเตอร์ หลักการทำงานของภาพกราฟิกแบบราสเตอร์ เกิดจากการเรียงตัวของจุดสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า พิกเซล และภาพกราฟิกแบบเวคเตอร์ เกิดจากการประมวลผลโดยอาศัยหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ประเภทของภาพกราฟิกแบบ 2 มิติ จะมีแต่ความกว้างและความยาว ส่วนภาพกราฟิกแบบ 3 มิติประกอบไปด้วยส่วนโค้ง เว้า มุม แสงและความลึก ระบบสีที่ใช้กับภาพกราฟิก ได้แก่ RGB CMYK HSB และ LAB ประเภทของไฟล์ภาพกราฟิกที่ใช้สำหรับจัดเก็บภาพ จะมีผลกับขนาดของไฟล์ภาพ ตลอดจนปัจจุบันมีการประยุกต์คอมพิวเตอร์กราฟิกไปใช้กับงานด้านต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น งานบันเทิง งานการเรียนการสอนและการฝึกอบรม งานออกแบบงานเว็บไซต์ หรืองานนำเสนอข้อมูล เป็นต้น






พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ
คอมพิวเตอร์ พ.ศ ๒๕๕๐

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่ วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ
“ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด บรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
“ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลา ชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น
“ผู้ให้บริการ” หมายความว่า
(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
(๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
“ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ 
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกัน การเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖ ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ 
เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น โดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ 
(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท 
(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท 
ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
มาตรา ๑๓ ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา 
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ 
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔
มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด
ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
มาตรา ๑๗ ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
(๑) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
(๒) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร
หมวด ๒
พนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวน ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด
(๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้
(๒) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง 
(๓) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๖ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ 
(๔) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่
(๕) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ 
(๖) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้ 
(๗) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว
(๘) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๙ การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ประกอบคำร้องด้วย ในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็ว
เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้พนักงาน
เจ้าหน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการ ให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐาน
การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๑๘ (๔) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น
การยึดหรืออายัดตามมาตรา ๑๘ (๘) นอกจากจะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัด ไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอขยายเวลายึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน
หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสอง ลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับ การทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีชุดคำสั่ง ไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามจำหน่ายหรือเผยแพร่ หรือสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นระงับการใช้ ทำลาย หรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ มีไว้ในครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ดังกล่าวก็ได้
ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคำสั่งที่มีผลทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งอื่นเกิดความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม ขัดข้อง หรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือโดยประการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นชุดคำสั่งที่มุ่งหมายในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ให้แก่บุคคลใด 
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งหรือที่ได้รับอนุญาตจากศาล
พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๓ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๔ ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อ ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๕ ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น
มาตรา ๒๖ ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่า เก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่ง ให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวันแต่ไม่เกินหนึ่งปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้
ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการนับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง
ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด อย่างไร และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา ๒๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๐ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินสองแสนบาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๒๘ การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ และมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ 
ในการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงาน กับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐมนตรี
มีอำนาจร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามวรรคสอง
มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัว ต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศ ในราชกิจจานุ
เบกษา